ฝ่ายบริหารงานบริการวิชาการและการถ่ายทอดเทคโนโลยี

คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ เป็นหน่วยงานและสถาบันการศึกษาที่มีภารกิจด้านการเรียน การสอน การวิจัย การบริการวิชาการและการทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรม โดยช่วงเวลาที่ผ่านมา คณะวิศวกรรมศาสตร์จะมุ่งเน้นภารกิจด้านการเรียน การสอน และการวิจัยเป็นหลัก อย่างไรก็ตามจากความเปลี่ยนแปลงทั้งด้านเทคโนโลยี และการจัดการสมัยใหม่ ภายใต้กระแสของโลกาภิวัฒน์ ที่สถาบันการศึกษาจะต้องมีการปรับบทบาทและภาระหน้าที่ให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลง ในขณะที่ภายในคณะวิศวกรรมศาสตร์ หรือมหาวิทยาลัย มีทรัพยากรมากมาย เช่น บุคลากรที่มีความรู้ ความสามารถ เครื่องมืออุปกรณ์ที่ทันสมัย และองค์ความรู้ต่างๆ เป็นต้น ที่สามารถบริการช่วยเหลือสังคม ชุมชน และอุตสาหกรรมภาคใต้ ทั้งที่เป็นสังคมช่วยตัวเองได้ เช่น หน่วยงานของรัฐ ธุรกิจอุตสาหกรรมและเอกชน เป็นต้น รวมทั้งสังคมด้อยโอกาส เช่น กลุ่มแม่บ้าน กลุ่มวิสาหกิจชุมชน และสังคมด้อยโอกาสอื่นๆ

การให้บริการวิชาการโดยบุคลากรของคณะวิศวกรรมศาสตร์ที่ผ่านมา ทำให้บุคลากรและคณะวิศวกรรมศาสตร์ มีประสบการณ์ในการให้คำปรึกษาแนะนำและการนำความรู้ไปเชื่อมโยงกับการแก้ปัญหาจริง สามารถนำประสบการณ์มาถ่ายทอดความรู้ การเรียน การสอนได้เป็นอย่างดี และส่วนหนึ่งสามารถนำมาเป็นโจทย์ปัญหาในการวิจัยได้ด้วย นอกจากนี้ยังก่อให้เกิดความสัมพันธ์กับอุตสาหกรรมในการนำไปสู่การแลกเปลี่ยน ทั้งในเชิงวิชาการ และเชิงการประกอบการธุรกิจ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้เกิดผลในการปรับปรุง พัฒนาและยกระดับในงานด้านต่างๆ เพื่อเป็นประโยชน์ เป็นที่พึ่งและเป็นแหล่งอ้างอิงทางวิชาการและวิชาชีพที่เหมาะสมสอดคล้องกับปัญหาและความต้องการ และเสริมสร้างความมั่นคงและความเข้มแข็งของสังคม ชุมชน ประเทศชาติ และนานาชาติ ตลอดจนการส่งเสริมบทบาททางวิชาการและวิชาชีพของสถาบันการศึกษาในการพัฒนาสังคม โดยคำนึงถึงความรับผิดรับชอบต่อสาธารณะเป็นสำคัญ

ต่อมาในปี 2554 คณะได้ปรับโครงสร้างใหม่อีกครั้งเป็น "ฝ่ายบริหารงานบริการวิชาการและการถ่ายทอดเทคโนโลยี" โดยเพิ่มภารกิจด้านการถ่ายทอดเทคโนโลยี และทรัพย์สินทางปัญญามารวมที่ฝ่ายฯ

หน้าที่ของฝ่ายบริหารงานบริการวิชาการและการถ่ายทอดเทคโนโลยี

ฝ่ายบริการวิชาการ มีหน้าที่หลักในการดำเนินงานด้านต่างๆ ดังนี้

  • ส่งเสริมการให้บริการวิชาการของบุคลากรของคณะวิศวกรรมศาสตร์ เพื่อให้เกิดการให้บริการวิชาการต่อชุมชนที่แพร่หลายและสนองต่อความต้องการของชุมชน และอุตสาหกรรมในท้องถิ่นภาคใต้
  • จัดและดำเนินการโครงการและกิจกรรมการฝึกอบรม สัมมนา รวมทั้งการให้คำปรึกษาแนะนำที่สอดคล้องกับความต้องการและเป็นประโยชน์ต่อท้องถิ่นโดยรวม
  • ส่งเสริมความสัมพันธ์และความร่วมมือกับองค์กรภาครัฐ และเอกชน เพื่อให้เกิดการแลกเปลี่ยน และการเกื้อกูลกันในลักษณะต่างๆ
  • เป็นหน่วยงานกลางในการติดต่อประสานงาน ทั้งหน่วยงานภายใน และภายนอกคณะวิศวกรรมศาสตร์ในการให้และรับงานบริการวิชาการ

ลักษณะงานบริการวิชาการของคณะวิศวกรรมศาสตร์

งานบริการวิชาการของคณะวิศวกรรมศาสตร์ มีลักษณะที่หลากหลาย ครอบคลุมทุกสาขาวิชาที่คณาจารย์ของคณะฯ มีความเชี่ยวชาญ ซึ่งโดยสรุปแล้วการให้บริการวิชาการของคณะวิศวกรรมศาสตร์ แบ่งออกเป็น 3 ลักษณะหลักๆ คือ

  • การให้คำปรึกษาแนะนำทางด้านการบริหารจัดการและด้านวิศวกรรมศาสตร์ให้กับหน่วยงานราชการ ภาคเอกชนต่างๆ
  • การจัดการฝึกอบรม สัมมนา และประชุมเชิงปฏิบัติการ
  • การให้บริการวิเคราะห์ ทดสอบ ตรวจสอบ และตรวจซ่อม ทางวิศวกรรมศาสตร์ รวมถึงการให้บริการเครื่องมือ อุปกรณ์ และห้องปฏิบัติการต่างๆ